ประเด็นร้อน
ปล้นคนจนยอดพุ่ง 49 จว.ทะลุ 100 ล้าน
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 20,2018
- - สำนักข่าวพิมพ์ไทย - -
ปปท. แฉปล้นเงิน "คนจน" พุ่ง 49 จว.ยอดทะลุเกิน 100 ล้าน เกือบ 100% ของงบฯ ด้าน "บิ๊กพม." ซีด! ปปง.สอบเส้นทางโกง พบเอี่ยว ขรก.อื้อ! ชงไล่ออกซี 8 ศธ.ทุจริตเงินเด็ก ชงเปลี่ยน ปธ.สืบสวนฯกองทุนเสมาฯ หวังสาวลึก
วันที่ 19 มี.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และนิคมสร้างตนเองทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินงานโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เข้าร่วมตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้ว พบความเชื่อมโยงข้าราชการหลายคน หากสุดท้ายพบว่ามีความผิดและเป็นผู้อยู่ในกระบวนการทุจริต ก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที
ด้าน พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท.แถลงสรุปผลการตรวจสอบทุจริตการใช้จ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ของศูนย์คนไร้ที่พึ่งและนิคมสร้างตนเองทั่วประเทศ ว่า ช่วงตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.-18 มี.ค.61 พบว่า มีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตงบประมาณรวม 104,440,000 บาท คิดเป็นประมาณ 85% ของงบศูนย์คุ้มครองฯ ใน49 จังหวัด ประกอบด้วยขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬหนองคาย สุราษฎร์ธานี ตราด น่าน สระแก้ว อุดรธานีสระบุรี อยุธยา กระบี่ ตรัง ร้อยเอ็ด ยะลา พัทลุงชุมพร สุรินทร์ อ่างทอง พิษณุโลก ชัยภูมิ บุรีรัมย์สงขลานราธิวาสมหาสารคาม ลำพูน นครราชสีมาอำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี นครพนม กาฬสินธุ์พิจิตร ราชบุรี นครปฐม มุกดาหาร ลำปาง เชียงรายแม่ฮ่องสอน ตาก อุทัยธานี สตูล ลพบุรี หนองบัวลำภูและศรีสะเกษ กำแพงเพชร พังงา สกลนคร จันทบุรี
โดยขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ท.รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว 7 จังหวัด คือ ขอนแก่น เชียงใหม่บึงกาฬหนองคาย สุราษฎร์ธานี ตราด น่าน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 27 จังหวัด
สำหรับพฤติการณ์การทุจริตมีหลายวิธีการ เช่นมีการปลอมเอกสารทั้งหมด ผู้มีรายชื่อไม่ได้รับเงินเลยมีการปลอมเอกสารบางส่วน มีทั้งผู้มีรายชื่อไม่ได้รับเงินเลย และผู้มีรายชื่อไม่ได้รับเงินบางส่วน ผู้ได้รับเงินไม่ได้เป็นผู้ยากไร้ มีการนำเงินมาให้ผู้มีรายชื่อในช่วงที่มีการตรวจสอบ และแจ้งให้ผู้มีรายชื่อ อ้างกับเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบว่าได้รับเงินครบถ้วน เป็นต้น
ส่วนการตรวจสอบนิคมสร้างตนเอง ป.ป.ท.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบไปแล้ว 4 แห่ง นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จ.อุดรธานี งบประมาณ 7 ล้านบาทนิคมสร้างตนเองห้วยห้วง จ.อุดรธานี งบประมาณ 5 ล้านบาท นิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ข่อนแก่นงบประมาณ 11 ล้านบาท และนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ.สตูล งบประมาณ 10 ล้านบาท โดยพฤติการณ์ที่ตรวจสอบพบว่า มีลักษณะการทุจริตเช่นเดียวกับศูนย์คุ้มครองฯ แต่มีลักษณะให้เงินทุนกลุ่มวิชาชีพและเบิกสงเคราะห์จำนวนหลายครั้ง
ขณะเดียวกัน สัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงาน ปปง.ได้เข้ามารับข้อมูลการเบิกจ่ายเงินกองทุนเสมาฯ เพื่อไปขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงิน และเตรียมเสนอคณะกรรมการธุรกรรม ของ ปปง.เพื่อพิจารณาอายัดทรัพย์ในปลายเดือนมี.ค.นี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มตรวจสอบภายในของสป.ศธ.ตรวจพบการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ที่มีการโอนเงินของกองทุนฯไปเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 51-61 เป็นเงิน88 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ ตนต้องการการสอบสวนในในเรื่องนี้แบบเชิงลึกและขยายวงกว้างมากขึ้น และได้รับรายงานจากนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.ว่าได้เปลี่ยนประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง จากเดิมระดับผู้อำนวการสำนักฯ เป็นประธานสืบสวน ก็แต่งตั้งให้นายอรรคพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ.มาเป็นประธานสืบสวนข้อเท็จจริง แทน
ทั้งนี้ตนได้กำชับให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนที่ตรวจสอบพบว่ามีการบันทึกบัญชีในระบบ GFMIS ว่ามีการโอนเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ในปี 51 และ53 กว่า 30 แต่ไม่ปรากฏเอกสารประกอบการเบิกจ่ายหรือผู้รับปลายทางเป็นใครนั้น ตรงนี้ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ใครดูแลเรื่องนี้ ใครเป็นเจ้าของบัญชีก็ต้องรับผิดชอบ เงินหายไม่ได้แปลว่าไม่มีคนรับผิดชอบดังนั้นเงินหายก็ต้องไปตรวจสอบว่าเงินหายไปไหน ใครเป็นคนเอาไปก็ต้องรับผิดชอบ ตนยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอน และตนยินดีรับข้อมูลหลักฐานต่างๆ ก็ขอให้แจ้งเข้ามาได้
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องวินัยร้ายแรง นั้นปลัด ศธ.ได้รายงานตนมาว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัด ศธ. ว่าจะมีการพิจารณาโทษทางวินัยร้ายแรงกับข้าราชการระดับ 8 ที่รับสารภาพแล้วซึ่งมีความผิดชัดแจ้ง ส่วนอีก 4 ราย กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริง ยืนยันว่าเวลานี้ ศธ.ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง และปลัด ศธ.ก็มีความเข้มแข็ง ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ปปง.ก็แถลงชัดเจนว่าจะเข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจะดำเนินการอายัดทรัพย์กลับคืนมา รวมถึง ป.ป.ท.ก็เริ่มเข้ามาร่วมตรวจสอบเรื่องวินัยด้วย อย่างน้อยที่สุดตอนนี้พวกตนก็ได้ทำสิ่งที่ต้องทำ
"ส่วนการเยียวยาเด็กและครูที่ไม่ได้รับเงินจากกองทุนเสมาฯนั้น ในระหว่างที่ยังไม่สามารถติดตามทรัพย์คืนมาได้ ปลัดก็อาจจะใช้เงินส่วนอื่นมาเยียวยาแทน เบื้องต้นอาจจะต้องใช้เงินในกองทุนเสมาฯมาเยียวยาให้แทนก่อน แต่จะต้องหารือในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตก่อน"
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน